สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรโลกสูงถึง 7 พันล้านคน และคาดว่าอาจจะสูงถึง 10.1 พันล้านคนในอีก 90 ปีข้างหน้า

โดยกลางศตวรรษนี้จำนวนประชากรจะพุ่งถึง 9.3 พันล้าน ตามรายงานของสหประชาชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานภาพของประชากรโลก  และพบว่าปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมาจาก ประเทศที่อัตราการเกิดสูง ประกอบด้วย 39 ประเทศในแอฟริกา 9 ประเทศในเอเชีย 6 ประเทศในโอเชียนเนีย (หมู่เกาะทางแปซิฟิก) และ 4 ประเทศในลาตินอเมริกา

ระดับอัตราการเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในทุกประเทศ ปัจจุบัน 42 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่อัตราการเกิดต่ำ นั่นคือ ประเทศที่ผู้หญิงมีบุตรไม่เพียงพอ ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้หญิงแต่ละคนจะถูกแทนที่ด้วยลูกสาวหนึ่งคน ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะอาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเกิดปานกลางซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะมีบุตรสาวระหว่าง 1 ถึง 1.5 คน ส่วนที่เหลือ 18 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเกิดสูง โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีบุตรสาวมากกว่า 1.5 คน

แม้ว่าประเทศที่มีอัตราการเกิดกระจุกตัวอยู่ในทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ (39 จาก 55ประเทศในทวีปมีอัตราการเกิดที่สูง) แต่ยังมี 9 ประเทศในเอเชีย 6 ประเทศในโอเชียนเนีย และ 4 ประเทศในลาตินอเมริกา ส่วนประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำได้แก่ ประเทศต่างๆในยุโรป ยกเว้น ไอซ์แลนด์และไอร์แลนด์ 19 จาก 51 ประเทศในเอเชีย 14 จาก 39 ประเทศในอเมริกา 2 ประเทศในแอฟริกา (มอริเชียสและตูนีเชีย)และ1ประเทศในโอเชียนเนีย (ออสเตรเลีย)

 การเติบโตของประชากรในอนาคตจะมาจากประเทศที่มีอัตราการเกิดสูง

ระหว่างปีค.ศ. 2011 และ ปีค.ศ. 2100  คาดว่าประชากรในประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า โดยเพิ่มจาก 1.2 พันล้านคนเป็น 4.2 พันล้านคน ในช่วงเดียวกันประชากรในประเทศที่มีอัตราการเกิดปานกลางจะเพิ่มขึ้นเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.8 พันล้านคน เป็น 3.5 พันล้านคน ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำจะลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.9 พันล้านคน เป็น 2.4 พันล้านคน

ส่วนช่วงอายุก็คาดว่าจะสูงขึ้นในทั้งสามกลุ่มประเทศในปี 2005 ถึง 2010 โดยเฉลี่ยช่วงอายุที่ต่ำที่สุดในประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงอยู่ที่ 56 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพราะพวกเขาเป็นโรคเอดส์ อย่างไรก็ตาม การขยายของโรคเอดส์ได้ลดลงและมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัส  ทำให้สันนิษฐานว่าอัตราการตายจากโรคเอดส์และสาเหตุอื่นๆจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นช่วงอายุในประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงจะอยู่ที่อายุ 69 ปี ในปี 2045 ถึง 2050 และอายุ 77 ปี ในปี 2095 ถึง 2100

ในประเทศที่มีอัตราการเกิดปานกลาง ช่วงอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 68 ปี ในปี 2005-2010 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 77 ปี ในปี 2045-2050 และ 82 ปี ในปี 2095-2100  ประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมีแนวโน้มที่มีช่วงอายุที่สูงโดยคาดการณ์ไว้ที่ 74 ปี ในปี 2005-2010 และสูงขึ้นเป็น 80 ปี ในปี 2045-2050 และ 86 ปี ในปี 2095-2100 โดยทั่วโลก ช่วงอายุได้เพิ่มขึ้นจาก 68 ปี ในปี 2005-2010 เป็น 81 ปี ในปี 2095-2100

อัตราการเกิดที่ลดลงและการมีอายุยืนขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย โดยประชากรที่สูงวัยนี้จะกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ ปัจจุบัน 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า และมีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์มีอายุต่ำกว่า 25 ปี  และเมื่อถึงปี 2050 นั้น 26 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศเหล่านี้จะมีอายุ 65 ปี หรือมากกว่า และมีเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี  อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการเกิดที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ในปี 2100 คาดว่าสัดส่วนของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 25 จะสูงขึ้นเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ และสัดส่วนของประชากรที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 28 เปอร์เซ็นต์

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่สูงวัยในประเทศที่มีอัตราการเกิดปานกลาง ส่งผลให้ประชากรในปี 2100 มีโครงสร้างอายุที่คล้ายกันเช่นเดียวกับประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ สัดส่วนของประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปี จะลดจาก 47 เปอร์เซ็นต์ในปี 2010 เป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2100 และส่วนประชากรที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2010 เป็น 26 เปอร์เซ็นต์ในปี 2100

ส่วนประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงจะยังคงมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยในปี 2010 นั้น  62 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 25 ปี และจะลดลงอย่างชัดเจนเหลือ 48 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2050 และ 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2100 ขณะเดียวกัน สัดส่วนประชากรที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าคาดว่าจะเพิ่มจากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อยในปี 2010 เป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2050 และเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ในปี 2100

สหประชาชาติได้มีการคำนวณทางหลักสถิติใหม่แล้วว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมานั้น ประชากรทั้งโลกได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านคนแล้ว

แปลโดย ธัญลักษณ์  นรินยา ศูนย์ข่าว TCIJ

ขอบคุณภาพจาก www.totallycoolpix.com

ใส่ความเห็น