COCONS ACHITECTURE

การสื่อสารในปัจจุบันรวดเร็วทันใจมาก โดยเฉพาะมีสื่อออนไลน์ในมือ ยิ่งทำให้การกระจายข่าวสารง่ายดาย แค่ปลายนิ้วสัมผัส รวมถึงการบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกเสียง ก็แสนจะง่ายดาย ทำให้เราได้ชมภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หลายท่านคงเคยชมภาพ หรือคลิปเหตุการณ์ ที่ตำรวจไล่ล่าคนร้าย คดียาเสพติด ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของคนร้ายตามยุทธวิธีที่ได้ฝึกอบรมมา เพื่อสกัดไม่ให้คนร้ายหนี ในบางครั้งก็มีผู้อื่นได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติ หน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือมีผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรือเสียหายจากความประมาทเลินเล่อ เช่น จับคนร้ายผิดคน สกัดรถผิดคัน เป็นต้น ซึ่งต้นสังกัดจะเข้ามาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ แต่ในกรณีที่ตำรวจทำให้เกิดความเสียหาย โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย กรณีแบบนี้จะมีผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ติดตามได้ครับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้นบุคคล หรือค้นสิ่งของ หรือค้นรถ ซึ่งอยู่ในครอบครองของบุคคลในที่สาธารณะนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 วางหลักไว้ว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครอง เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด” และมาตรา 99 วางหลักไว้ว่า “ในการค้นนั้น เจ้าพนักงานต้องพยายามมิให้มีการเสียหายและกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้”

จากหลักกฎหมายข้างต้น มีกรณีน่าศึกษา คือ

1. ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และจะต้องมีเหตุอันควรสงสัยด้วย ดังนั้น บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่ใช่ผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายจะมาขอค้น ท่านสามารถปฏิเสธไม่ให้ค้นได้ครับ แม้ว่าจะมีเหตุอันควรสงสัยก็ตาม

2. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจ และหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่นๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม

3. มีเหตุอันควรสงสัย คือ เจ้าหน้าที่สงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครอง เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

ทั้งนี้ เหตุอันควรสงสัยมีเพียง 3 กรณีนี้เท่านั้น เจ้าพนักงานจะอ้างว่ามีเหตุอันควรสงสัยอย่างอื่นแล้วมาขอค้นไม่ได้ หรือจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วมาขอค้น โดยไม่มีเหตุอันควรสงสัย ก็ไม่ได้เช่นกันครับ ท่านสามารถปฏิเสธไม่ให้ค้นได้ครับ อีกทั้งการค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานยังมีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย และหากมีการทะเลาะวิวาทกันขึ้นมา ท่านสามารถอ้างป้องกันตัวได้ครับ เนื่องจากบุคคลย่อมมีสิทธิปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

ในกรณีการค้นบุคคล ค้นสิ่งของ หรือค้นรถ แล้วพบสิ่งผิดหมายในความครอบครองของบุคคลนั้น เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมได้ทันที ไม่ต้องมีหมายจับ เนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1)

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านจะมีสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในครอบครอง หรือเป็นบุคคลตามหมายจับก็ตาม เจ้าพนักงานก็ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายผู้กระทำความผิดได้ครับ ไม่ว่าจะทำร้าย เพื่อให้รับสารภาพ หรือบังคับให้บอกข้อเท็จจริงอื่นๆ ก็ตาม เว้นแต่มีการต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือใช้อาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสามารถใช้กำลังตามยุทธวิธี เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อาจจะมีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 อีกหนึ่งกระทงครับ

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Facebook: ทนายเจมส์ LK

ใส่ความเห็น